กำเนิดอาเซียน

กำเนิด อาเซียน

[บทความพิเศษในโอกาสที่ วันที่ 8 สิงหาคม 2553 วันนี้ เป็นวันครบรอบอายุ 43 ปี ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” ]

โลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองหวั่นไหวด้วยเหตุจากภัยคุกคามทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่สองค่ายมหาอำนาจโลกแบ่งขั้วความคิด วิถีชีวิตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติออกเป็น “ทุนนิยม และ เสรีนิยมประชาธิปไตย” ฝ่ายหนึ่ง กับ “สังคมนิยมและคอมมูนิสต์” อีกฝ่ายหนึ่ง แยกขั้วเป็น “ฝ่ายขวา” นำโดยสหรัฐอเมริกา และชาติยุโรปตะวันตก กับ “ฝ่ายซ้าย” นำโดย สหภาพโซเวียต (รัสเซีย) และ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศขนาดเล็กบนโลกเดียวกันก็หวั่นไหวในความมั่นคงปลอดภัย เพราะขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของสองกลุ่มค่ายมหาอำนาจจัดกลุ่มรวมพวกเผชิญหน้ากันชัดเจน มนุษยชาติเพิ่งจะผ่านความพินาศอันเกิดจากสงครามโลกครั้งที่สองมาได้เพียงไม่นาน 
จากสงครามแบบที่เคยร้อนระอุจากการสู้รบโดยใช้ยุทโธปกรณ์ โลกกลับมาตกอยู่ในสงครามรูปแบบใหม่ เป็นสงครามของอุดมการณ์ และการแบ่งกลุ่มขั้วมหาอำนาจ 
สงครามชนิดใหม่นี้ เรียกว่า “สงครามเย็น”
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศต่างๆทั้งบนภาคพื้นทวีปและในมหาสมุทร พยายามหาทางเลือกที่มั่นคงปลอดภัย เพื่อจะได้มีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า พ้นจากสภาวะที่เรียกกันตอนนั้นว่า “ด้อยพัฒนา” ไปให้จงได้ 
Southeast Asia Treaty Organization” หรือ “องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เรียกชื่อย่อว่า “SEATO” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์ และ ราชอาณาจักรไทย ด้วยความหวั่นเกรงภัยคุกคามจากประเทศที่พยายามเผยแพร่ลัทธิทางการเมืองแบบสังคมนิยมคอมมูนิสต์ นั่นคือภัยจากจีน และ สหภาพโซเวียต รวมทั้งกลุ่มขบวนการทางการเมืองในประเทศที่ได้รับอิทธิพลและการสนับสนุนจากมหาอำนาจฝ่ายซ้าย SEATO (ภาษาไทยใช้ตัวย่อ “ส.ป.อ.”)  เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1955/พ.ศ. 2498 เริ่มมีปัญหากันเองในหมู่ชาติสมาชิก หลังเริ่มภาคีในทศวรรษที่สอง และในที่สุดก็สลายตัวจบสิ้นบทบาทอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1977
ในปี ค.ศ. 1961/พ.ศ. 2504 หลังเกิด SEATO ได้ 6 ปี ประเทศไทย, ฟิลิปปินส์ และ มาลายา
ร่วมกันก่อตั้งสมาคมชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Association ofSoutheast Asia หรือ ASA (อาสา) แต่ความขัดแย้งในหมู่ประเทศสมาชิกก็ขวางพัฒนาการไปสู่ความเป็นองค์ระดับภูมิภาคที่ขยายกว้างและมั่นคงได้จริง บทบาทของ ASA จึงค่อยๆเสื่อมถอยลง
ในปี ค.ศ. 1963 / พ.ศ. 2506 มาลายา, ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย รวมกันตั้งเป็นสมาคมใหม่ เรียกตามชื่อประเทศ Malaya + Philippines + Indonesia รวมกัน ว่า “Maphilindo” เป็นแนวคิดที่จะรวมชนเผ่ามาเลย์ด้วยกันเป็นกลุ่มพวก หรือ สมาคมประเทศมาเลย์เผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่ผลกระทบเชิงการเมืองในขณะที่สหพันธรัฐมาเลเซียอยู่ระหว่างก่อตัว ประกอบกับปัญหาการแย่งชิงสิทธิการครอบครองดินแดนบอร์เนียวเหนือ (North Borneo) หรือ Sabah
ระหว่างฟิลิปปินส์ กับ มาลายา ผสมกับความพยายามของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่จะขัดขวางการเกิดของสหพันธรัฐมาเลเซีย ทำให้ Maphilindo ไม่ประสบผลสำเร็จ ความพยายามของเหล่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะร่วมกันสร้างประชาคมเพื่อความสงบร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง จึงต้องล้มเหลวอีกครั้ง
ภัยจากภายนอกภูมิภาคก็คุกคาม ความแตกแยกระหว่างประเทศในภูมิภาคที่ควรจะเป็นมิตรกัน ก็หาข้อยุติไม่พบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเพียงกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนา ต้องการเดินหน้าไปให้พ้นความลำบากยากจน แต่ท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมืองและขอบเขตพรมแดนที่ขัดแย้งแย่งพื้นที่กัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียนรู้จากบทเรียนเก่าที่เป็นความล้มเหลวผิดพลาด และบทเรียนใหม่ย้ำความจริงที่ว่า ประเทศในภูมิภาคต้องรวมตัวกันให้มั่นคงแนบแน่นอย่างแท้จริงด้วยใจอันบริสุทธิ์ที่ปรารถนาสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนร่วมกันทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คลื่นลมแห่งสันติภาพและความร่วมมืออย่างยั่งยืน พัดสู่ฝั่งทะเลตะวันออกของไทย
  ณ หาดทรายบางแสนอันสงบ วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1967/พ.ศ. 2510
รัฐบาลไทยสมัย ฯพณฯนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.
 ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เริ่มความคิดที่จะก่อตั้งสมาคมเพื่อความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้เชิญรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลนโยบายด้านการต่างประเทศ จาก 4 มิตรประเทศเพื่อนบ้าน มาร่วมประชุมหารือกันอย่างจริงจังเป็นทางการ ใช้บ้านพักแหลมแท่น ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นที่ประชุมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หนังสือพิมพ์”หลักเมืองยุคใหม”่วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2510 พาดหัวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์มาประเทศไทยครั้งนี้อาจมาเจรจาเรื่องปัญหาดินแดนซาบาห์ที่พิพาทกับมาเลเซีย แทนที่จะเป็นเรื่องการตั้งสมาคมระดับภูมิภาคซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างกว่า ครอบคลุมความร่วมมือแบบพหุภาคี (หลายประเทศรวมกัน) นอกจากนั้นยังได้กล่าวเพิ่มเติมก่อนออกเดินทางมากรุงเทพฯว่า ความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคใหม่ที่ไทยริเริ่มเชิญมาประชุมนี้ครั้งนี้จะไม่มาแทนการรวมกลุ่มใดๆที่มีอยู่ในเวลานั้น ฟิลิปปินส์ ยังไม่คิดว่าจะเกิดอาเซียนหรือองค์กรสมาคมใหม่ใดๆที่จะสามารถมาแทนที่ SEATO, ASA หรือ Maphilindo ได้ 
แต่ปัญหาโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็นและการเผชิญหน้าระหว่างสองค่ายมหาอำนาจนั้นซับซ้อนเกินกว่าองค์กรเล็กๆที่ขาดเอกภาพและเป็นเพียงส่วนย่อยของภูมิภาคจะแก้ไขได้
รายงานจากหนังสือพิมพ์ “Bangkok Post” วันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1967 ย้ำความจำเป็นที่จะต้องตั้งองค์กรใหม่ในภูมิภาค เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร โดยใช้ชื่อชั่วคราวในตอนนั้นว่า “Southeast Asia Association for Regional Cooperation” ใช้ชื่อย่อชั่วคราวว่า “SEAARC” หรือ “สมาคมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยหวังกันว่า องค์กรหรือสมาคมใหม่นี้จะมาแทน ASA ที่ไม่ประสพความสำเร็จเป็นรูปธรรมนัก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เหตุผลที่จะทำให้ SEAARC หรือ สมาคมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดเป็นความจริงได้ก็คือ:
“เมื่อเปรียบเทียบกับ ASA และ ASPAC (สภาแห่งเอเชียและแปซิฟิก) แล้ว สัมพันธมิตรองค์กรใหม่ที่เสนอ (โดยฝ่ายไทย) นี้ มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ขอบเขตพื้นที่ภูมิศาสตร์และพรมแดนของแต่ละประเทศที่จะมารวมกันก็ชัดเจน แม้ความคิดทางการเมืองของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกันอย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีหลายเรื่องที่มีความคล้ายคลึงกัน เรื่องสำคัญที่สุดคือทั้ง 5 ประเทศมีความห่วงใยในปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคโดยภาพรวม สมาคม SEAARC จะไม่ใหญ่โตเท่ากับ ASPAC และไม่เล็กเหมือน ASA อีกทั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจของสมาคมใหม่นี้ก็มีมากมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น 5 ประเทศที่กำลังจะมาร่วมกันตั้งสมาคมใหม่นี้ได้มีความร่วมมือกันในหลายๆเรื่องมาก่อนหน้านี้แล้ว บางประเทศก็ร่วมมือกันแบบ “ทวิภาคี” (ประเทศต่อประเทศ) บางประเทศก็ร่วมมือกันแบบ “พหุภาคี” ผ่าน ASA  เฉพาะอินโดนีเซีย กับ มาเลเซียนั้นได้ลงนามกันไปก่อนหน้าแล้วในความตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีการลงทุนร่วมกันในด้านการค้าพาณิชย์ระหว่างประเทศ ความตกลงที่ว่านี้สามารถจัดเข้าระบบของสมาคมใหม่ได้เลย ที่สงสัยกันว่าสมาคม SEAARC จะทำเรื่องภาษีศุลกากรร่วมกัน และสร้างเขตการค้าเสรีในภูมิภาคได้หรือไม่นั้น ขอให้เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจะพิจารณาหลังจากได้ตั้ง SEAARC แล้วก็ได้ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าสัมพันธมิตรใหม่นี้จะมีอนาคตที่สดใสใหญ่ยิ่ง ผู้นำจาก 5 ชาติจะได้หารือถึงกลไกสำหรับองค์กรใหม่ (ที่มีชื่อชั่วคราวว่า SEAARC) นี้ มีเหตุผลดีจริงๆว่า ทำไมผู้นำทั้ง 5 จึงมี ความรู้สึกมั่นในยิ่งนัก สำหรับภารกิจที่รอคอยอยู่ข้างหน้า”

เวลา 11:20 น. เช้าวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2510 คุณเท่ห์ จงคดีกิจ ผู้สื่อข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Bangkok Post รายงานว่า :
“ฯพณฯ S. Rajaratnam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้รับการต้อนรับจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีต่างประเทศ พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ ของไทย ท่านเป็นผู้นำคนแรก ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย”
เวลา 23:10 น.  ค่ำวันเดียวกัน ฯพณฯ รัฐมนตรีต่างประเทศ Narciso Ramos แห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นผู้นำคนที่สองที่เดินทางมาถึงสนามบินดอนเมือง
เวลา 11:05 น. รุ่งขึ้นเช้าวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ฯพณฯ Adam Malik รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย  และ ฯพณฯ Tun Abdul Razak ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี แห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย มาถึงในเวลาใกล้เคียงกัน
จุดมุ่งหมายของการมาประเทศไทยของผู้นำทั้ง 4 ในครั้งนี้ก็เพื่อหารือถึงการที่จะตั้งสมาคมใหม่ของ 5 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มีชื่อที่แน่นอน ที่เรียกชื่อกันไปก่อนอย่างไม่เป็นทางการก็ใช้ชื่อ ‘Southeast Asia Association for Regional Cooperation’ เรียกย่อไปก่อนว่า ‘SEAARC’ อาจจะแปลเป็นไทยว่า ‘สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อความร่วมมือในภูมิภาค’ หรือ “สมาคมเพื่อความร่วมมือแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
           จะเรียกอย่างไรก็ยังไม่แน่นอน 
          พ.อ. (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ผู้ริเริ่มจัดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า:

           “ The name does not matter much. It is what the association does that really counts”
           “เรื่องชื่อนั้นไม่สำคัญมากนัก สิ่งที่สมาคมนี้จะทำต่างหาก ที่เป็นความสำคัญ”

            คุณเท่ห์ จงคดีกิจ แห่งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่ามีความพยายามจากพวกพรรคคอมมูนิสต์ในการโฆษณาชวนเชื่อทำลายองค์กร หรือสมาคมชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้

              นาย S. Rajaratnam รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์บอกว่าท่านมีความหวังสูงยิ่งในความ เป็นไปได้ที่จะร่วมกับประเทศไทยก่อตั้งสมาคมภูมิภาค สมาคมใหม่นี้ และแสดงความเห็นต่อไปตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post:
“We believe, as far as Singapore is concerned, that regional cooperation is the trend today in the world. The more advanced countries are going for economic cooperation of scale. They form big economic units.”
“ในส่วนของเราที่สิงคโปร์นั้น เราเชื่อว่าสมาคมเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับ ภูมิภาค คือแนวโน้มของความร่วมมือในโลกทุกวันนี้ ประเทศที่ก้าวหน้ามากกว่าคนอื่นก็จะรวม  ตัวกันร่วมมือกันทางเศรษฐกิจที่ยึดขนาดเป็นเกณฑ์ ก่อตัวเป็นหน่วยเศรษฐกิจขนาดใหญ่”

“The Americas are one economic unit. The communists are a big economic bloc. Western European countries have come together for economic resurgence.”
“ทวีปอเมริกาเป็นหน่วยเศรษฐกิจร่วมเป็นหนึ่งเดียว พวกชาติคอมมิวนิสต์ก็รวมกันเป็นกลุ่มค่ายขนาดใหญ่ ชาติยุโรปตะวันตกก็หันมารวมตัวกันเพื่อสร้างกระบวนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ”

      “If the relatively underdeveloped countries like those of Southeast Asia go in for        
      economic autocracy based on concepts of 18th or 19th century nationalism, then, I      
      think, we would be asking for trouble.”
     “หากว่าประเทศที่ด้อยพัฒนาเช่นพวกเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มัวแต่ยึดติดอยู่กับระบบ      
      เศรษฐกิจชาตินิยมล้าหลังแบบสมัยศตวรรษที่ 18-19 ถ้าคิดกันแบบนี้ ผมว่ามีปัญหาแน่ๆ”

     “If the advanced countries believe that the future lies in groupings and if we remain outside of groupings and on our own, we would be just left behind in the economic race and we would always be underdeveloped.”
“ในเมื่อประเทศที่เจริญแล้วมีความเชื่อว่าอนาคตผูกติดกับการรวมกลุ่มประเทศ แล้วถ้าพวกเราวางตัวอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังนอกกลุ่ม พวก เราก็จะถูกทิ้งห่างในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เราก็จะเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปตลอดกาล”

 “If our political independence is to have any kind of reality there must be a certain
  measure of economic strength, if only for bargaining.”
 “ถ้าอิสรภาพทางการเมืองของเราจะมีความหมายเป็นจริงอย่างใดบ้าง ก็จำจะต้องให้มี    
 มาตรการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้ได้ อย่างน้อยๆก็เอาไว้เป็นอำนาจต่อรองกับ
 ชาติที่เข้มแข็งกว่า”

      “It is with this broad picture in mind that we have come to discuss with the   
 Foreign Ministers of four other countries in Southeast Asia in what way we can even   
at least lay small foundation for economic cooperation in the region.”
      “เพราะภาพกว้างๆในใจที่ว่านี้นั่นเอง ทำให้เราต้องมาปรึกษากันกับรัฐมนตรีต่างประเทศ
      ของอีก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างน้อยๆเพื่อหาหนทางวางรากฐานเล็กๆ  
      เพื่อความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค”

        “I don’t believe that, even if we start now, however modestly, we can have effective
        regional cooperation for quite a long time. After all, in Western Europe, the countries
        took the best part of two decades to solidify the European economic community. I   
 hope we don’t have to take that long because I don’t think we have much time. But it     
 isn’t going to be short either.”
      “ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มความร่วมมือกันได้ในเวลานี้ ผมก็ไม่ถึงถึงขนาดจะเชื่อ แม้เพียงในระดับ
      พอถ่อมตนได้ว่า เราจะสามารถมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิ ภาพใน  
      ระยะเวลาอันสั้น ดูตัวอย่างในยุโรปตะวันตกก็เห็นได้ว่าเขาใช้เวลาเกือบสองทศวรรษกว่า
      จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจได้อย่างเป็นปึกแผ่น แนบแน่น ผมหวังว่าเราจะไม่ต้อง
     ใช้เวลานานเท่ายุโรป เพราะผมไม่คิดว่าเรามีเวลามากนัก แต่มันก็จะไม่เร็วอย่างที่อยากให้
      เป็น นั้นแน่นอน”

       “The best would be for this conference not to try for anything too ambitious and not to 
       try to seek out cooperation in areas of obvious difficulties. Let us select things that are
       relatively simple where there are no invested interests in maintaining nationalist
       economy. If these things succeed, the more difficult ones, perhaps, can also be 
       overcome.”
     “ที่น่าจะดีที่สุดสำหรับการประชุมที่กรุงเทพฯครั้งนี้ก็คือว่า เราอย่าไปทะเยยอทะยานมาก  
      เกินไปนัก อย่าไปค้นหาความร่วมมือในเรื่องที่เห็นชัดๆว่าเป็นปัญหาซับซ้อน เราควรจะ
      มาเลือกตกลงในเรื่องง่ายๆ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงที่หวังจะให้ได้เพียงกับเศรษฐกิจของ 
      ประเทศตนเอง หากว่าเรื่องง่ายๆที่เราจะหารือกันเป็นผลสำเร็จ เรื่องอื่นที่ยากกว่า บางที่ก็  
       อาจทำจนสำเร็จได้”

      รัฐมนตรีต่างประเทศ ราชารัตนัม จากสิงคโปร์ มาประเทศไทยด้วยทัศนะที่เป็นบวก มีความหวัง และต้องการให้ความคิดริเริ่มของไทยในการตั้งสมาคมประชาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมาคมใหม่นี้ เป็นผลสำเร็จอย่างแท้จริง ต่อคำถามที่ว่า ท่านมองเห็นอุปสรรคอันใดขวางหน้าอยู่บ้างในความพยายามที่จะก่อตั้งสมาคมใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากความคิดริเริ่มจากไทยในครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ตอบว่า

          “All associations are difficult to form. Some associations have already got    
          tombstones. But I don’t see any difficulty. If we are not overly ambitious but very 
          modest something will come out of this conference.”

          “สมาคมทั้งหลายแบบนี้นั้นตั้งได้ยากอยู่แล้ว บางสมาคมที่ตั้งมาก่อนถูกฝังกลบในสุสาน
         ไปแล้วก็มี แต่สำหรับคราวนี้ ผมไม่เห็นปัญหายุ่งยากอันใดเลย หากเราไม่ทะเยอทะยาน
          สูงเกินไป ทำอะไรที่พอประมาณ แน่ใจได้เลยว่าจะได้ผลอะไรออกมาจากการประชุม
          หารือกันครั้งนี้”

         ฯพณฯ รัฐมนตรีต่างประเทศ Narciso Ramos แห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ว่า:

          “The new organization is one that offers the highest potential for success of all
          regional organizations because it is smaller than ASPAC and provides for closer
         contact..... that the countries which will form the new organization are  the richest in
          natural resources and are among the most politically stable.”
         “องค์การใหม่นี้มีศักยภาพสูงสุดที่จะบรรลุความสำเร็จ ยิ่งกว่าองค์กรระดับ
         ภูมิภาคอื่นใด เพราะมีขนาดที่เล็กว่า ASPAC และสะดวกในการที่จะมีความสัมพันธ์
         กันอย่างใกล้ชิดกว่า...ประเทศที่จะรวมตัวกันในองค์กรใหม่นี้ก็ล้วนแล้วแต่มีความมั่งคั่ง
         ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศทั้งหลายที่มีความมั่นคงทางการ
          เมือง”
          ดร. ถนัด คอมันตร์ ในฐานะเจ้าภาพ ได้พาผู้นำมิตรประเทศทั้ง 3 ท่าน ยกเว้นรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เดินทางไปพักที่บ้านพักรับรองเขาสามมุข บางแสน ทันที ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประชุม ในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ซึ่งจะใช้บ้านรับรองอีกหลังหนึ่งไม่ไกลกันเป็นสถานที่ประชุม บ้านหลังนั้นเรียกว่า “บ้านแหลมแท่น” อยู่ติดทะเลชายหาดบางแสน ห่างจากกรุงเทพฯ 105 กิโลเมตร เป็นบ้านรับรองในสำนักนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลไทย ในกาลที่ผ่านมา บ้านแหลมแท่นเป็นที่ประชุมหารืออันนำไปสู่การตัดสินใจสำคัญๆในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากมาย
      วันเสาร์ที่ 5 และวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967 โดยการนำความคิดของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้นำ 5 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ที่บ้านแหลมแท่น การประชุมสร้างประวัติศาสตร์ให้กับเอเชียตะวันออกเฉียง เริ่มตอนบ่ายวันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2510 หลังจาก ดร.ถนัด คอมันตร์, ตย อับดุล ราซัค  และ รัฐมนตรีนาซิสโซ่ รามอส กลับจากสนามกอล์ฟบางพระ และรัฐมนตรี Rajaratnam กลับจากพัทยา ส่วนรัฐมนตรี Adam Malik มิได้พักที่บ้านเขาสามมุขในคืนวันศุกร์ ที่ 4 สิงหาคม แต่ท่านเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ตรงสู่บ้านแหลมแท่นในตอนสายวันเสาร์ บรรยากาศที่บ้านแหลมแท่นบรรยายได้ว่าเป็น “Spirit of Bangsaen” หรือ “จิตวิญญาณแห่งบางแสน” อันจะนำไปสู่กำเนิดขององค์การใหม่เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 
          การประชุมเริ่มเวลา 16:00 น. ผู้นำทุกท่านแต่งตัวตามสบายในบรรยากาศแบบคนในครอบครัวเดียวกัน เพื่อหาข้อตกลงในหลักการความร่วมมือระหว่างกัน แต่เนื้อหาสาระที่หารือกันนั้นจะส่งผลประโยชน์ต่อประชากรเกือบ 200 ล้านคนในทั้ง 5 ประเทศรวมกัน การประชุมในบรรยากาศไม่เป็นทางการ ไม่มีพิธีรีตองใดๆ ไม่มีข้าราชการมาเป็นผู้ช่วยเตรียมข้อมูลหรือจดบันทึกใดๆจนใกล้ชิด ระหว่างที่ผู้นำทั้ง 5 คุยกัน จะนั่งคุยไป ดื่มน้ำชากินแซนด์วิทช์ไป คุยกันในห้องนั่งเล่นก็ได้ จะย้ายออกไปยืนรับลมทะเลไปคุยกันไปที่ระเบียงบ้านก็ได้เช่นกัน เมื่อจบการประชุมแต่ละช่วงแล้วเท่านั้นจึงจะมีการแยกห้องปรึกษากับคณะข้าราชการผู้ช่วยงานของแต่ละประเทศ
วันอาทิตย์ ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2510/ค.ศ. 1967 เป็นวันที่สองของการคุยกันแบบกันเองของผู้นำทั้ง 5 แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังสือพิมพ์ Bangkok Post เช้าวันรุ่งขึ้นพาดหัวเป็นข่าวใหญ่ที่สุดประจำวันว่า 
“รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งหลาย พร้อมก่อตั้งสมาคม SEAARC แล้ว ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ และ การเจรจาเรื่องดินแดนซาบาห์ก็เริมเดินหน้าไปด้วย”

คำว่า “the new economic community” หรือ “ประชาคมเศรษฐกิจใหม่” ถูกใช้เป็นครั้งแรกที่บ้านแหลมแท่น เป็นการอธิบายเป้าหมายของสมาคมใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็ยังคงใช้ชื่อชั่วคราวไปก่อนว่า “SEAARC” หรือ “สมาคมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
“The Spirit of Bangsaen” หรือ “จิตวิญญาณแห่งบางแสน” ก่อกำเนิดความรู้สึกเป็นญาติมิตร รอมชอมในเรื่องที่เคยเห็นต่างกัน แผ้วถางทางไปสู่การก่อตั้งสมาคมแห่งประเทศในภูมิภาคสมาคมใหม่ได้อย่างน่าพึงพอใจ ฟิลิปปินส์ กับ มาเลเซีย มีปัญหาขัดแย้งกันมาก่อนเรื่องดินแดนซาบาห์ เมื่อมาได้พลังจิตวิญญาณบางแสน ก็มีทางออก ตกลงผ่อนปรนปัญหาระหว่างกันได้ โดยสัญญาว่าจะหารือเรื่องที่ขัดแย้งกันในอีกเดือนหรือสองเดือนถัดไป จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการก่อตั้งสมาคมความร่วมมือในภูมิภาคใหม่นี้ ผู้นำมาเลเซีย กับ ฟิลิปปินส์แยกคุยเรื่องปัญหาดินแดนซาบาห์ออกไปต่างหากแบบตัวต่อตัว หรือทวิภาคี โดยไม่ทำให้การหารือในภาพรวมของ 5 ประเทศต้องหยุดชะงัก
วันอาทิตย์ ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2510/ค.ศ. 1967 เป็นวันที่สองของการคุยกับแบบครอบครัวของผู้นำทั้ง 5 แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนแล้วจนรอด ก็ยังหาชื่อเหมาะสำหรับสมาคมใหม่นี้ไม่ได้ จนถึงขนาดมีข้อเสนอให้จัดประกวดการตั้งชื่อด้วยซ้ำไป ชื่อชั่วคราวที่เรียกย่อว่า SEAARC นั้น ฝ่ายฟิลิปปินส์บอกว่าฟังไปแล้วใกล้เคียงกับคำว่า “shark” แปลว่าปลาฉลาม ท่าทางจะน่ากลัวไปหน่อย 
เรื่องยากเรื่องหนึ่งที่ตกลงกันได้ คือเรื่องวัตถุประสงค์ของสมาคม ซึ่งตกลงให้เน้นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มากกว่าเรื่องการเมือง ก็ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ เรื่องใดที่ไม่แน่ใจ แต่ละฝ่ายก็จะติดต่อขอความเห็นตรงถึงรัฐบาลของแต่ละประเทศตลอดเวลา รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ต้องขอความเห็นขั้นสุดท้ายเป็นเด็ดขาดจากประธานาธิบดีที่กรุงมะนิลา ท่านบอกว่า 
“I am in suspense. I want to see this thing go through” 
“ผมตื่นเต้นใจระทึกเลย ตอนรอคำตอบจากกรุงมะนิลา ผมอยากให้เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงให้ได้ จริงๆ” 

รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พอใจในผลการประชุม
รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย  และ สิงคโปร์ ก็แสดงความพอใจในผลการหารือเช่นกัน

รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยบอกว่า ปัญหาต่างๆที่สำคัญได้รับการแก้ไขครบถ้วนหมดสิ้นแล้ว เหลือเพียงเรื่องชื่อสมาคม หากยังหาชื่อไม่ได้ ก็เห็นทีว่าจะต้องจัดการประกวดตั้งชื่อใน 5 ประเทศผู้ก่อตั้งกันเลย ทำนองเดียวกับที่เคยจัดประกวดภาพสัญลักษณ์สมาคม ASA มาแล้วก่อนหน้านี้ ที่ประชุมมิได้ตัดสินใดๆเกี่ยวกับอนาคตของสมาคม ASA ที่ยังคงอยู่ โดยมี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยกำหนดว่าจะคุยกันทีหลังที่กัวลาลัมเปอร์ในตอนปลายเดือนสิงหาคม หลังการประชุมที่บางแสน
หลังอาหารกลางวันที่แหลมแท่น คณะรัฐมนตรีทั้ง 5 เดินทางกลับกรุงเทพ ฝ่ายไทยจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบเป็นทางการที่กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์
วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967 เป็นวันประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อตกลงกันในเรื่องที่ยังไม่เรียบร้อยจากบ้านแหลมแท่น เพื่อให้ได้เป็นเอกสารเป็นทางการสำหรับเตรียมลงนามก่อตั้งสมาคมใหม่ในวันอังคารที่ 8 สิงหาคม ต่อไป
ดุจปาฏิหาริย์ ชื่อของสมาคมที่ค้นหามาจนเกือบสิ้นหวัง วันนี้ได้ชื่อแล้ว ว่า “ASEAN”
                   เขียนเป็นภาษาไทยว่า “อาเซียน” อ่านว่า “อาเซี่ยน” 
ชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษว่า “Association of Southeast Asian Nations”
                   ชื่อภาษาไทยในครั้งนั้นยังเรียกไม่เหมือนกันอยู่ในสื่อมวลชนไทย หนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ฉบับเดียวกันเรียกชื่อว่า “สมาคมสหประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เรียกย่อว่า “เอเชียน”
ในที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่งก็เรียกว่า “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  อีกที่หนึ่งก็เรียกว่า “สมาคมชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” การสะกดตำว่า “อาเซีย” “อาเซีย” “เอเซีย” หรือ “เอเชีย” ยังคงใช้กันสลับสับสนอยู่เป็นปรกติ
ปัจจุบัน ณ ปี พ.ศ. 2553 กระทรวงการต่างประเทศของไทยให้เรียกชื่อเต็มเป็นทางการว่า
“สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อาเซียน” (ออกเสียงว่า “อา-เซี่ยน” - ไม่ใช่ “อาเซียน”)

ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ที่ประชุมพอใจในชื่ออาเซียนเพราะความใกล้เคียงในการออกเสียงว่า “อา-เซี่ยน” ใกล้กับคำว่า “เอเชียน” เจ้าของความคิดตั้งชื่อ ASEAN และเป็นผู้กำหนดให้ออกเสียงคำย่อ ASEAN ว่า “อาเซี่ยน” ไม่ให้ออกเสียงเรียบๆว่า “อาเซียน” นั้น ก็คือรัฐมนตรีต่างประเทศ อาดัม มาลิก แห่งอินโดนีเซีย ระหว่างการประชุมมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งกล่าวยกย่องว่าอินโดนีเซียนั้นมีชื่อเสียงมากในการตั้งชื่อองค์กรต่างๆ ซึ่งมักจะได้ชื่อที่มีความหมายลึกซึ้งและเป็นศิริมงคล 
การประชุมเป็นทางการที่กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ ณ กรุงเทพมหานคร ใช้เวลาเพียง 40 นาที จาก 12:20 น. ถึง 13:00 น. เท่านั้นเอง  เพราะ “จิตวิญญาณแห่งบางแสน” ระหว่างการพูดคุยกันดุจญาติพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน ณ บ้านแหลมแท่นนั้นทรงทรงพลังยิ่งนัก ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย ผู้ริเริ่มความคิดในการก่อตั้งอาเซียนแถลงด้วยความพึงพอใจยิ่งว่าการเจรจาก่อตั้งอาเซียนเต็มไปด้วยบรรยากาศของการรอมชอมผ่อนปรนกันมาก ท่านย้ำว่า อาเซียนนั้นเปิดกว้าง ยินดีต้อนรับสมาชิกประเทศอื่นๆในภูมิภาคเสมอ รวมทั้งกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาขัดแย้งกับไทยอยู่ในเรื่องสิทธิเหนือเขาพระวิหาร และเจ้าสีหนุก็ทรงทราบเรื่องนี้ดีแต่ต้น เช่นเดียวกับนาย Herbert de Ribbing ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ว่าไทยยังคงขอสงวนสิทธิ์อุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลโลกอยู่
ค่ำวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีของไทย จัดงานเลี้ยงที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นเกียรติ แก่รัฐมนตรีผู้ก่อตั้งอาเซียน
คำประกาศปฏิญญาก่อตั้งอาเซียน เรียกว่า “ASEAN Declaration” | “ปฏิญญาอาเซียน” หรือ
“Bangkok Declaration” | “ปฏิญญากรุงเทพ” ร่างเสร็จสมบูรณ์ แล้วลงนามอย่างเป็นทางการ หลังการประชุมที่เริ่มเวลา 10:30 เช้าวันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967 ที่กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร
หนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ฉบับวันต่อมา พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า
“ที่ประชุม ๕ ชาติเอเชียลงนามแล้ว ไทยว่า เพื่อลบล้างสภาพอันกดขี่”
โดยรายงานข่าวว่า

“หลังจากได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศเอเซีย ๕ ประเทศ มีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย อย่างไม่เป็นทางการ ๒ วัน และอย่างเป็นทางการ ๒ วัน ทั้งที่บางแสนและกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ ๕-๘ เดือนนี้แล้ว ได้มีการลงนามในปฏิญญาของประเทศทั้ง ๕ ณ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเวลา ๑๐.๕๐ น. วันที่ ๘ เดือนนี้ เพื่อก่อตั้งสมาคมสหประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่เรียก (ยังเรียกชื่อผิดอยู่) ว่า เอเชียน (ASEAN) ขึ้น โดยที่ประชุมได้ลงมติดังนี้
  1. รับปฏิญญาของสมาคม ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๗ ประกาศการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
  2. ให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ ๒ ณ กรุงจาการ์ตา ในปี ค.ศ. ๑๙๖๘ และในระยะเวลาก่อน และระหว่างการประชุมนั้น คณะกรรมการประจำของสมาคมจะดำเนินงานอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา
  3. ตกลงที่จะมอบหมายให้คณะกรรมการประจำพิจารณาข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับความร่วมมือส่วนภูมิภาคในด้านต่างๆ เช่นการท่องเที่ยว การขนส่งทางเรือและการประมง และวีธีทางที่จะขยายการค้าในส่วนภูมิภาค
อย่างไรก็ตามจุดหมายและประสงค์ของสมาคมมีดังนี้
  1. เพื่อเร่งรัดความเจริญ ทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาทางวัฒนธรรมในส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมรากฐานสำหรับประชาชนที่มีความรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งสหประชาชาติ
  2. ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเคารพแน่วแน่ในความยุติธรรมและหลักแห่งเนติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์และกฎบัตรสหประชาชาติ
  3. ส่งเสริมความร่วมมือจริงจังในด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม วิชาการวิทยาศาสตร์และการบริหาร
  4. จัดให้มีความช่วยเหลือซึ่งกัน (และกัน) ในรูปของการอำนวยความสะดวกทางการฝึกอบรมและและวิจัยด้านการศึกษาวิชาชีพ วิชาการและการบริหาร
  5. ร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
  6. ส่งเสริมการศึกษา
  7. ดำรงไว้ซึ่งความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและมีประโยชน์กับองค์การระหว่างประเทศส่วนภูมิภาค (ที่) มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน
หลังจากลงนามแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของ ๕ ประเทศได้กล่าวปราศรัย เริ่มตั้งแต่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ตามลำดับ นายรามอสได้กล่าวถึงสมาคมเอเชียนนี้ว่าเป็นสมาคมที่ร่วมมือกันในทางสันติและความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ดร.อาดัม มาลิก กล่าวว่าเป็นสมาคมที่แสดงให้เห็นว่าประเทศในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้สามารถยืนหยัดอยู่ตามลำพังได้ สำหรับตนอับดุลราซัค แห่งมาเลเซีย กล่าวว่า แม้จะไม่ได้มีการบอกกล่าวกันมากนัก แต่สมาคมนี้ก็เป็นสมาคมที่ตั้งขึ้นเพื่อสวัสดิภาพของประชาชน  นายราชารัตนัม แห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า สมาคมนี้เป็นสมาคมที่ไม่มีวัตถุประสงค์จะต่อต้านผู้ใด แต่เพื่อความมั่นคง และก้าวหน้าของภูมิภาคเอเซีย”


อาเซียนเกิด เวลา 10:50 น. 
เช้าวันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967 
ที่กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ 
กรุงเทพมหานคร  
ราชอาณาจักรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น